เอ๊ะ! ทำไมเดี๋ยวนี้เรามองอะไรใกล้ๆ ก็เริ่มไม่ชัด จะมองเห็นได้ดีก็เฉพาะระยะไกลๆ แถมยังปวดหัวเวลาต้องมองใกล้ๆนานๆอีก หรือว่าเราจะมีอาการสายตายาวตามวัย (Presbyopia)
อย่ามัวแต่สงสัยเลยค่ะ วันนี้ ORRA จะมาบอก 6 checklists ที่บอกว่าคุณมีสายตายาวตามวัยแล้วนะ ไปดูกัน!!!
สายตายาวคืออะไร
สายตายาว คือ ภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อดวงตาไม่สามารถโฟกัสภาพที่อยู่ใกล้ได้อย่างชัดเจน ทำให้มองเห็นวัตถุหรือตัวอักษรที่อยู่ใกล้เบลอหรือไม่ชัด แต่สามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลได้ชัดเจน อาการนี้มักพบในผู้ที่มีอายุ 38-40 ปีขึ้นไป เนื่องจากเลนส์ตาสูญเสียความยืดหยุ่น ทำให้ปรับโฟกัสได้ยากขึ้น ผู้ที่มีอาการสายตายาวอาจรู้สึกเมื่อยล้าตาเมื่อทำงานในระยะใกล้เป็นเวลานาน
สายตายาวเท่าไหร่ถึงควรใส่แว่นตา
สายตายาวที่ควรใส่แว่นตาไม่ได้มีค่าที่กำหนดตายตัว แต่จากประสบการณ์ของ ORRA พบว่า หากมีค่าสายตายาวตั้งแต่ +0.75 ถึง +1.00 ไดออปเตอร์ขึ้นไป และมีอาการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ปวดตา มึนศีรษะ หรือมองเห็นไม่ชัดเจนในระยะใกล้ ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อพิจารณาใส่แว่นตา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและความต้องการของแต่ละบุคคล
สายตายาวมีกี่ชนิด?
แยกตามภาษาไทย สายตายาวจะมี 2 ชนิดค่ะ คือสายตายาวแต่กำเนิด และสายตายาวตามอายุ หรือตามวัย
- สายตายาวแต่กำเนิดทำให้มองไกลไม่ชัด
- สายตายาวตามวัยทำให้มองใกล้ไม่ชัด
แต่ถ้าแยกตามภาษาอังกฤษ
- สายตายาวแต่กำเนิดมีชื่อเรียกว่า Hyperopia
- สายตายาวตามอายุ หรือตามวัยมีชื่อเรียกว่า Presbyopia
สายตายาวแต่กำเนิด
สายตายาวแต่กำเนิด (Hyperopia) เกิดจากกระจกตาแบนเกินไปหรือขนาดของลูกตาสั้นเกินไปเมื่อเทียบกับความยาวปกติของลูกตา
- หากค่าสายตายาวไม่เยอะอาจมองไกลได้ชัดเจน
- แต่ถ้าสายตายาวมากกว่า +0.75D อาจเห็นไม่ชัดทั้งระยะใกล้และไกล
- สายตายาว (Hyperopia) เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- ผู้ที่มีสายตายาว (Hyperopia) อยู่ก่อนแล้วอาจทำให้เกิดสายตายาวตามวัยเร็วขึ้น
สายตายาวตามอายุ
สายตายาวตามอายุ หรือตามวัย (Presbyopia) เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติในกลุ่มคนช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป (แต่บางคนก็เริ่มมีอาการได้ตั้งแต่อายุ 37 – 39 ปี)
- เนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อตามัดเล็กๆ รอบเลนส์ตาของเรา (Cilary Muscles) เริ่มเสื่อมสภาพลงตามวัย
- รวมถึงเลนส์ตาแข็งขึ้นทำให้มีความยืดหยุ่นน้อยลง จึงมองเห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ไม่ชัด แต่ในระยะไกลจะยังมองเห็นได้ดี
- ในการมองสิ่งต่างๆ เราจะต้องใช้เลนส์ตา (Crystalline Lens) ซึ่งวิธีการทำงาน คือ เมื่อมองใกล้ เลนส์ตาจะโป่งออก เมื่อมองไกล จะยุบเข้า
สายตายาวตามวัยไม่ได้มีอันตรายร้ายแรง แต่หากไม่ได้รับการแก้ไขจะส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่น ไม่สามารถทำกิจกรรมบางอย่างได้อย่างสะดวกหรือต่อเนื่อง สร้างความน่ารำคาญใจและทำให้คุณมีความสุขในการใช้ชีวิตประจำวันน้อยลง นอกจากนี้อาจทำให้บุคลิกภาพเสีย จากการต้องเพ่งหรือหรี่ตามองสิ่งต่างๆ
วิธีรักษาสายตายาวทำอย่างไรได้บ้าง
การรักษาสายตายาวมีหลายวิธีที่สามารถช่วยบรรเทาอาการและปรับปรุงการมองเห็นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและความต้องการของแต่ละบุคคล โดยทั่วไปแล้ว การรักษามักเริ่มจากวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัดก่อน แต่ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการทางการแพทย์ที่ซับซ้อนขึ้น โดยมีแนวทางการรักษาหรือบรรเทาอาการดังนี้
- ใช้แว่นสายตายาว เป็นวิธีที่ง่ายและนิยมมากที่สุด โดยใช้เลนส์นูนเพื่อช่วยให้ตาโฟกัสภาพที่อยู่ใกล้ได้ชัดเจนขึ้น แว่นสายตาสำหรับอ่านหนังสือหรือแว่นสองชั้นเป็นตัวเลือกที่ดี นอกจากนี้ยังมีแว่นหลายชั้นที่ช่วยในการมองเห็นได้ทั้งระยะใกล้และไกล ทำให้สะดวกในการใช้งานในชีวิตประจำวัน
- ใส่คอนแทคเลนส์ เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ชอบใส่แว่น มีทั้งแบบใช้แล้วทิ้งและแบบใช้ซ้ำ คอนแทคเลนส์สำหรับสายตายาวมีหลายประเภท เช่น แบบ monovision ที่ใช้เลนส์ต่างกันในแต่ละตา หรือแบบ multifocal ที่มีความแรงหลายระดับในเลนส์เดียว ช่วยให้มองเห็นได้ชัดทั้งระยะใกล้และไกล
- การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ เป็นวิธีที่ช่วยแก้ไขสายตายาวได้อย่างถาวร โดยใช้เลเซอร์ปรับแต่งรูปทรงของกระจกตา ทำให้แสงโฟกัสที่จอประสาทตาได้ดีขึ้น วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการสายตายาวไม่มากและไม่ต้องการพึ่งพาแว่นหรือคอนแทคเลนส์ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อประเมินความเหมาะสมก่อนตัดสินใจ
- การฝังเลนส์เทียม เป็นการผ่าตัดเพื่อใส่เลนส์เทียมเข้าไปในตา ช่วยแก้ไขปัญหาสายตายาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือมีปัญหาต้อกระจกร่วมด้วย การผ่าตัดนี้ใช้เวลาไม่นาน และสามารถกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน แต่ต้องดูแลตาอย่างระมัดระวังในช่วงพักฟื้น
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แม้ไม่สามารถรักษาสายตายาวให้หายขาดได้ แต่การปรับพฤติกรรมบางอย่างช่วยลดอาการได้ เช่น การพักสายตาเป็นระยะเมื่อทำงานที่ต้องใช้สายตามาก การปรับแสงสว่างให้เหมาะสมขณะอ่านหนังสือหรือทำงาน การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพตา และการออกกำลังกายตาเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อตา
6 CHECKLIST ของสายตายาวตามวัย
สายตายาวตามอายุ หรือตาม (Presbyopia) เกิดจากการเสื่อมสภาพของเลนส์ตาทำให้ความสามารถในการโฟกัสในระยะใกล้แย่ลง 6 CHECKLIST จะช่วยคัดกรองคุณว่าคุณมีสายตายาวตามวัยแล้วหรือยัง
1. คุณมีอายุมากกว่า 38 ปีแล้ว
- ถ้าตามงานวิจัยหรือในบทความเมื่อช่วง 10 ปีก่อน มักจะบอกว่าอาการสายตายาวจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อคุณอายุแตะเลข 4
- แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราได้ดูแลลูกค้ามากมายและได้พบว่าอาการสายตายาวตามวัยสามารถเริ่มมีอาการได้ในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยลงด้วย
- โดยอายุที่น้อยที่สุดที่เราเคยพบ พบว่ามีสายตายาวตามวัยอยู่ที่ 35 ปี
2. อะไรใกล้ๆก็เห็นไม่ชัด
- จากที่เคยเล่น smartphone อ่านหนังสือ พิมพ์งานได้สบายๆ ก็เริ่มจะเห็นตัวหนังสือหรืออะไรๆไม่ชัด ต้องคอยถอยออกไปให้ห่างเรื่อยๆ
- จนบางครั้งอาจจะต้องยื่นหนังสือหรือ smartphone จนสุดแขน ถึงจะมองเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น
3. ต้องคอยหรี่ตาหรือหยีตาเวลามองใกล้ๆ
เวลามองอะไรไกลๆก็เห็นได้ปกติดี แต่พอต้องมองสิ่งที่อยู่ใกล้ๆก็จะต้องคอยหรี่ตาหรือหยีตา เพื่อปรับโฟกัสให้มองเห็นได้ชัดเสมอๆ
4. ในที่แสงน้อย ยิ่งมองใกล้ได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก
ในช่วงกลางคืนหรือเมื่อมีแสงน้อยจะมองเห็นอะไรใกล้ๆได้น้อยลงกว่าตอนมีแสง
5. รู้สึกปวดบริเวณรอบดวงตา
พอมองอะไรๆ ไปได้สักระยะหนึ่งก็จะเริ่มมีอาการปวดบริเวณรอบดวงตา
6. เริ่มมีอาการปวดศีรษะ ขมับ หรือท้ายทอย
เมื่อมองสิ่งของระยะใกล้ๆ เป็นเวลานานจะเริ่มมีอาการปวดหัวหรือปวดบริเวณขมับ ท้ายทอย
แว่นสายตายาวมีกี่ชนิด
เมื่อคุณมีอาการสายตายาว จะส่งผลทำให้การมองใกล้ของคุณแย่ลง คุณจึงต้องหาตัวช่วย ORRA ขอแนะนำแว่นสายตายาวทั้ง 3 ชนิดให้ได้รู้จักค่ะ
1. ใช้แว่น 2 อัน
อันแรกเป็นแว่นสำหรับมองระยะไกล และอีกอันเป็นแว่นมองระยะใกล้
- ข้อดี : การใส่แว่น 2 อันจะทำให้ภาพมองได้กว้างยิ่งขึ้น และมีราคาถูก
- ข้อเสีย : การใส่แว่น 2 อันทำให้เกิดความไม่สะดวกเนื่องจากต้องพกแว่น 2 อัน นอกจากนี้ ยังทำให้เสียบุคลิกภาพอีกด้วย ไม่ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ต้องใช้สายตาตลอดทั้งวัน
2. ใช้แว่นเฉพาะทางกลางใกล้
- ข้อดี : สามารถมองได้ดีทั้งในระยะใกล้และระยะกลาง มองได้กว้างสบายตา
- ข้อเสีย : ห้ามนำไปขับรถ
3. ใช้แว่นโปรเกรสซีฟ (Progressive Lens) หรือเลนส์ไร้รอยต่อ
เป็นเลนส์ที่ ORRA ขอแนะนำให้ใส่ เพราะช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถมองเห็นได้ชัดในทุกระยะ ไม่ว่าเป็นใกล้ กลาง หรือไกล
- ข้อดี : เหมาะกับคนที่ต้องการใช้สายตาอย่างต่อเนื่อง หรือใช้ตลอดวัน รวมถึงตัวเลนส์จะดูเหมือนเลนส์สายตาปกติ จึงไม่ทำให้ผู้สวมใส่ดูมีอายุ
- ข้อเสีย : หลังจากที่สวมใส่ ผู้ใส่จำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับตัวสักระยะ นอกจากนี้ตัวเลนส์จะมีราคาสูงมากกว่าเลนส์ทั่วไป และมีความจำเป็นต้องตรวจกับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเลนส์โปรเกรสซีฟเท่านั้น
วิธีการป้องกันและการดูแลสายตายาว
สายตายาตามวัย เกิดขึ้นจากอายุที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ 3-4 ปี สายตายาวคุณอาจเพิ่มประมาณ +0.25 ถึง +0.50D แล้วแต่บุคคล ORRA จึงมีเทคนิคดีๆ ที่มาช่วยป้องกันและดูแลสายตาของคุณ ให้เกิดช้าลงที่สุดเท่าที่ทำได้ค่ะ
- การตรวจตาแบบประจำปี: นอกเหนือจากการตรวจสอบสุขภาพทั่วไป เช่น ความดันโลหิต หรือเบาหวาน คุณควรตรวจสายตาทุกปี เพื่อตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของสายตาและจัดการเร็วเมื่อพบปัญหา
- สำหรับท่านที่ใช้คอมพิวเตอร์หรือทำงานระยะใกล้นานๆ : ระยะเวลาที่ใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานเป็นพิเศษอาจส่งผลกระทบต่อสายตา
- ควรใช้หลักการ 20-20-20 ซึ่งหมายถึงทุกๆ 20 นาทีให้สายตาพักผ่อนโดยมองไกลไปที่ระยะประมาณ 20 ฟุต (ประมาณ 6 เมตร) เป็นเวลา 20 วินาที
3. การใช้แว่นตาที่เหมาะสมและมีคุณภาพ: เมื่อคุณมีปัญหาสายตายาว คุณต้องใช้แว่นสายตายาวที่ถูกชนิดและถูกต้อง เช่น ไม่นำแว่นอ่านหนังสือ หรือแว่นเฉพาะทางไปมองไกล เพราะอาจทำให้สายตายาวคุณเพิ่มเร็วได้
บทสรุปเกี่ยวกับอาการสายตายาว :
สายตายาวตามวัย คืออาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติในกลุ่มคนช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป เกิดจากความเสื่อมของเลนส์ มีผลทำให้มองใกล้ไม่ชัด 6 สัญญาณที่บอกได้ว่าคุณมีสายตายาวตามวัยคือ
- คุณมีอายุมากกว่า 38 ปีแล้ว
- อะไรใกล้ๆก็เห็นไม่ชัด
- ต้องคอยหรี่ตาหรือหยีตาเวลามองใกล้ๆ
- ในที่แสงน้อย ยิ่งมองใกล้ได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก
- รู้สึกปวดบริเวณรอบดวงตา
- เริ่มมีอาการปวดศีรษะ ขมับ หรือท้ายทอย
หากคุณเริ่มมีอาการเหล่านี้ ORRA แนะนำว่าควรไปตรวจสายตาอย่างละเอียด จะได้ทราบปริมาณของสายตายาวของคุณ เพื่อจะได้หาตัวช่วยให้ชีวิตคุณง่ายขึ้น และมีความสุขขึ้นค่ะ