การวัดสายตา เป็นการทำให้เรารู้ว่าสายตาของเรามีความผิดปกติหรือไม่ เพื่อหาวิธีการในการรักษา
เนื่องจากดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายและสายตาก็ส่งผลต่อคุณภาพการดำรงชีวิตของเราเป็นอย่างมาก หากสายตามีความผิดปกติ จะส่งผลทำให้การมองเห็นแย่ลง และส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลงหรือยากขึ้นไปด้วย
สารบัญเนื้อหา
- การวัดสายตา ที่ดีเป็นอย่างไร
- ปัญหาและความผิดปกติของสายตา จากการวัดสายตามีอะไรบ้าง
- ใครบ้างที่ควรวัดสายตา และควรวัดสายตาบ่อยแค่ไหน
- การการวัดสายตา ด้วยการตรวจระดับการมองเห็น (visual acuity test)
- การวัดสายตา ด้วยเครื่อง Automated refractometer
- การวัดสายตาอย่างละเอียด ด้วยเครื่อง Phoropter และ Retinoscopy
- วิธีการแก้ไขปัญหาหรือรักษาความผิดปกติ ของค่าสายตามีอะไรบ้าง
- บทสรุป
บทความนี้ ORRA จะพามาทำความเข้าใจถึงการวัดสายตาที่ดี เป็นอย่างไร ปัญหาและความผิดปกติของค่าสายตามีอะไรบ้าง
ใครบ้างที่ควรวัดสายตา ควรวัดบ่อยแค่ไหน วิธีการวัดสายตามีอะไรบ้าง รวมถึงวิธีในการรักษาความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นดังนี้
การตรวจวัดสายตาที่ดีเป็นอย่างไร
การวัดสายตา หรือการวัดค่าสายตาที่ดี คือ การตรวจประเมินสายตา ด้านความสามารถในการมองเห็น ทั้งในแง่ของความชัดเจน และระยะการมอง เพื่อให้รู้ว่าสายตามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง และควรใช้วิธีการใดในการรักษา
ซึ่งควรทำการตรวจและให้คำแนะนำโดยนักทัศนมาตรหรือหมอสายตา ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่หลากหลาย
ซึ่งจะมีความแตกต่างกับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์ที่มุ่งเน้นการตรวจความผิดปกติของดวงตาที่เกิดจากโรคทางตา เช่น ต้อกระจก ต้อลม เป็นต้น ซึ่งวิธีการตรวจก็จะมีวิธีการที่เหมือนและแตกต่างกัน เพื่อดูแนวโน้มความผิดปกติและวิเคราะห์วินิจฉัยภาวะหรือโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดวงตาได้ และทำการรักษาในแต่ละโรคต่อไป
ปัญหาและความผิดปกติที่พบได้จากการตรวจสายตามีอะไรบ้าง
ปัญหาและความผิดปกติของสายตานั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ที่มักพบบ่อย ได้แก่
สายตาสั้น
คือ ความผิดปกติของค่าสายตาที่มีระยะการมองเห็นที่สั้นกว่าปกติ โดยจะสามารถมองเห็นในระยะใกล้ได้ชัดเจน แต่มองระยะไกลได้ไม่ชัดเจน
สายตายาว (myopia)
มี 2 ชนิด คือ
สายตายาวแต่กำเนิด (hyperopia)
จะมีผลทำให้มองไกลไม่ชัด มักเกิดจากปัญหากระจกตาหรือความยาวของกระบอกตา
สายตายาวตามวัย (presbyopia)
สายตายาวตามวัยจะมีผลทำให้มองใกล้ไม่ชัด มักเกิดจากปัญหาที่เลนส์ตาและกล้ามเนื้อตามีความเสื่อมสภาพจากอายุ
สายตาเอียง (astigmatism)
คือ ความผิดปกติของค่าสายตาที่มีการมองในระยะใกล้ และระยะไกลไม่ชัดเจน หรือมีการมองเห็นภาพเป็นเงาซ้อน หรือบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง โดยสามารถเกิดร่วมกับสายตาสั้น หรือสายตายาวได้
ใครบ้างที่ควรตรวจสายตาและควรวัดสายตาบ่อยแค่ไหน
หากมีคำถามว่าใครบ้างที่ควรวัดสายตา หรือตัวเราเองควรวัดสายตาหรือไม่ สิ่งสำคัญที่เราต้องเข้าใจ คือ การวัดสายตาไม่ได้จำเป็นแค่สำหรับคนที่ทราบว่าตนเองมีปัญหาด้านสายตาเท่านั้นที่ควรไปวัดสายตา แต่ทุกคนที่แม้ไม่มีอาการที่บ่งบอกถึงความผิดปกติด้านสายตาก็ควรวัดสายตาเช่นกัน โดยควรวัดสายตาสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี ซึ่งมีบางกลุ่มที่จำเป็นต้องวัดสายตาบ่อยกว่านั้นหรือทันทีที่พบอาการหรือสภาวะเหล่านี้ เช่น
- รู้สึกว่าตนเองมีค่าสายตาเปลี่ยนแปลงไป เช่น มองระยะไกลไม่ชัด มองใกล้ไม่ชัด เป็นต้น
- คนในครอบครัวมีภาวะสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง เนื่องจากความผิดปกติทางด้านสายตาสามารถส่งต่อทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูกได้
- สวมใส่แว่นสายตา แต่มีอาการปวดตา ตามัว หรือมองเห็นไม่ชัดเจนเหมือนช่วงแรกที่สวมแว่นตาที่สวมใส่อยู่ในปัจจุบัน
วิธีตรวจสายตาที่ร้านแว่นตาใช้บริการ
ต่อไปนี้จะพาไปรู้จักกับวิธีตรวจวัดสายตาแต่ละวิธีว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไรบ้าง
การตรวจวัดสายตาด้วยการตรวจระดับการมองเห็น (visual acuity test)
การตรวจระดับการมองเห็น (visual acuity test) คือ การทดสอบระยะในการมองเห็นที่ชัดเจนของแต่ละคน โดยการอ่านชาร์จตัวเลขหรืออักษร (snellen chart) ที่จะเรียงจากขนาดใหญ่ลงไปเล็ก
ในระยะห่างประมาณ 4-6 เมตร และใช้อุปกรณ์ (ocluder) ปิดตาทีละข้าง อ่านจบครบข้างละ 1 รอบ ให้เจ้าหน้าที่ฟัง แล้วเจ้าหน้าที่จะทำการวิเคราะห์ว่ามีความสามารถในการมองเห็นเท่าใด
ซึ่งค่าสายตาที่ปกติ คือ 20/20 ซึ่งค่าเลข 20 ที่เป็นตัวเศษ หมายถึง ระยะห่างในหน่วยฟุตระหว่างผู้ทดสอบจนถึง chart ตัวเลข และส่วนเลข 20 ที่เป็นตัวส่วน หมายถึง ระยะห่างในหน่วยฟุตที่คนสายตาปกติสามารถอ่านเห็นได้ในบรรทัดเดียวกัน
การวัดสายตาโดย ชาร์จตัวเลขหรืออักษร (snellen chart) จะพอทราบความผิดปกติของสายตาอย่างคร่าวๆ เท่านั้น ไม่สามารถประเมินความผิดปกติที่แท้จริงได้
การตรวจวัดสายตาด้วยเครื่อง Automated refractometer
สำหรับการวัดสายตาด้วยเครื่อง Automated refractometer นี้ท่านที่เคยวัดสายตามาก่อน อาจจะพอคุ้นๆ เครื่องนี้บ้าง ลักษณะคือผู้ถูกตรวจจะต้องเอาคางวาง หน้าผากชิด และมองบ้านหรือภูเขาในเครื่อง
โดยทั่วไปแล้วเครื่องตรวจสายตา Automated refractometer มีความสามารถในการวัดค่าสายตา อย่างรวดเร็วและเป็นเชิงประเมินเบื้องต้น แต่อาจไม่สามารถทดสอบความสามารถในการเห็นทั้งหมดของสายตาหรือวินิจฉัยโรคทั้งหมดได้แบบครอบคลุมเสมอไป
ดังนั้น การวัดสายตาอย่างละเอียดโดยนักทัศนมาตร จึงมีความสำคัญอย่างมากเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้องและการดูแลสายตาที่เหมาะสมที่สุด
การตรวจวัดสายตาอย่างละเอียดด้วยเครื่อง Phoropter และ Retinoscopy
การวัดสายตาด้วยวิธีนี้เป็นการวัดค่าสายตาที่ละเอียดจากนักทัศนมาตรโดยใช้เครื่อง Phoropter หรือ Retinoscopy
เพื่อตรวจหาความผิดปกติของค่าสายตาทั้ง 2 ข้าง ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง และความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา
โดยมีวิธีการต่างๆ คือ การเปรียบเทียบความชัดของภาพรังผึ้ง ตัวอักษร หรือชาร์จนาฬิกาผ่านเครื่อง Phoropter ที่สามารถใส่เลนส์สายตาระดับต่าง ๆ เข้าไปได้ โดยจะมีขั้นตอนตามหลักทัศนมาตร ใช้เวลาตรวจในส่วนนี้ประมาณ 30 นาที
เพื่อหาว่าเลนส์ที่เหมาะสมที่สุดควรจะมีค่าสายตาเท่าใด จึงจะทำให้เราสามารถมองได้ชัดเจน และสบายตาที่สุด
แนะนำวิธีตรวจวัดสายตาด้วยตัวเองเบื้องต้น
การตรวจสายตาด้วยตัวเองเป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็วในการประเมินสุขภาพตาเบื้องต้น แม้จะเป็นประโยชน์ แต่ไม่สามารถทดแทนการตรวจวัดสายตาโดยนักทัศนมาตรผู้เชี่ยวชาญได้ ดังนั้น หลังจากตรวจด้วยตัวเองแล้ว ควรไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อความถูกต้องแม่นยำ
1. หาแผ่น Snellen Chart จากอินเทอร์เน็ตมาวัดเอง
Snellen Chart เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการตรวจสายตา คุณสามารถหาภาพ Snellen Chart ออนไลน์ได้ง่าย ๆ วิธีใช้คือ ยืนห่างจากจอคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตประมาณ 6 เมตร แล้วอ่านตัวอักษรบนแผนภูมิจากบนลงล่าง หากคุณสามารถอ่านได้ถึงแถวที่ 8 (20/20) แสดงว่าคุณมีสายตาปกติ
2. ลองปิดตาซ้ายขวาดูระยะโฟกัส
การตรวจวัดสายตาแบบง่าย ๆ อีกวิธีคือการทดสอบตาทีละข้าง เริ่มจากปิดตาข้างซ้ายแล้วมองวัตถุด้วยตาขวา สังเกตว่าเห็นชัดเจนหรือไม่ จากนั้นสลับมาปิดตาขวาและทำซ้ำกับตาซ้าย หากพบความแตกต่างในการมองเห็นระหว่างตาทั้งสองข้าง อาจเป็นสัญญาณว่าคุณจำเป็นต้องตรวจสายตากับผู้เชี่ยวชาญ
3. เทียบแสงฟุ้งกระจายระหว่างกลางวันและกลางคืน
การสังเกตความแตกต่างในการมองเห็นแสงระหว่างกลางวันและกลางคืนเป็นวิธีหนึ่งในการตรวจวัดสายตาเบื้องต้น หากคุณพบว่าในเวลากลางคืน แสงไฟรถหรือไฟถนนดูฟุ้งหรือมีรัศมีรอบ ๆ มากกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณของอาการสายตาเสื่อม หรือโรคต้อกระจกระยะเริ่มต้น ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจสายตาอย่างละเอียด
4. สังเกตตัวเองจากชีวิตประจำวัน
การสังเกตอาการในชีวิตประจำวันเป็นวิธีตรวจสายตาที่ง่ายที่สุด หากคุณพบว่าต้องหรี่ตาบ่อย ๆ เพื่อมองเห็นชัด ปวดหัวหลังจากอ่านหนังสือหรือดูจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือรู้สึกว่าต้องถือหนังสือไกลขึ้นเพื่อให้อ่านได้ชัด นี่อาจเป็นสัญญาณว่าคุณควรไปตรวจวัดสายตากับผู้เชี่ยวชาญ
วิธีการแก้ไขปัญหาหรือรักษาความผิดปกติของค่าสายตามีอะไรบ้าง
ปัญหาของความผิดปกติของค่าสายตา ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง มีวิธีการแก้ไขหรือรักษาที่เป็นที่นิยมหลัก ๆ 3 วิธีการ คือ
- การสวมแว่นสายตาซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
- การสวมคอนแทคเลนส์ ที่มีลักษณะเป็นแผ่นเลนส์บาง ๆ ติดที่ลูกตา
- การผ่าตัดด้วยเลเซอร์หรือการทำเลสิค เป็นการแก้ไขปัญหาทางกายภาพที่โครงสร้างของดวงตาที่ทำให้ค่าสายตาผิดปกติ
บทสรุปการตรวจวัดสายตา :
อย่างไรก็ตามปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับสายตา หรือแม้กระทั่งดวงตาอาจเกิดขึ้นได้โดยที่คุณไม่ทันได้ตั้งตัว สิ่งที่คุณสามารถทำได้คือควรไปพบหมอสายตาหรือนักทัศนมาตร เพื่อตรวจสายตาเป็นประจำทุกปีพร้อม ๆ กับการตรวจสุขภาพประจำปีด้านอื่น ๆ ด้วย หากท่านต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมหรือต้องการรับคำปรึกษา มาหาเราที่ ORRA ศูนย์เลนส์โปรเกรสซีฟได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11:00 – 20:00น. ทักเราที่นี่ค่ะ LINE:@orra-od